ลดเสี่ยงลดโรค เลือกบริโภคอาหารที่มี สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)”

  • 17 May 2017
  • /
  • 319

ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีพลังงานและไขมันสูง โซเดียมสูง น้ำตาลสูง กรดไขมันอิ่มตัวสูง ในขณะที่บริโภคผักและผลไม้ที่น้อยลง รวมถึงออกกำลังกายน้อยลงอีกด้วย ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นปัจจัยที่สำคัญก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่เรียกว่าโรคเอ็น ซี ดี (Non-communicable diseases: NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ซึ่งจากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยใน ปี พ.ศ. 2556 พบกลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 349,096 ราย หรือร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรเลือกบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม โดยสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” บนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนตัดสินใจซื้อ

สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เป็นเครื่องหมายแสดงทางเลือกสุขภาพที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร และเป็นส่วนหนึ่งของการมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม โดยสัญลักษณ์โภชนาการดังกล่าวจะแสดงคุณสมบัติทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารอย่างชัดเจนเนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายนี้จะมีปริมาณสารอาหาร เช่น น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น สัญลักษณ์โภชนาการจึงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลโภชนาการที่ลดความซับซ้อนให้กับผู้บริโภค และช่วยให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสมได้

สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” จะแสดงบนฉลากอาหารที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการยื่นขอรับการรับรองให้เป็นไปหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี (คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ชุดที่ 3) ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้มอบหมายให้มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้การรับรองเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” โดยสัญลักษณ์โภชนาการจะมีลักษณะ รูปวงกลมขอบสีฟ้า ตรงกลางวงกลมเป็นภาพใบไม้สีเขียวสองใบทับกัน เหนือใบไม้มีวงกลมทึบสีเขียวขนาดเล็กอยู่กึ่งกลาง เหนือวงกลมทึบสีเขียวมีเส้นโค้งสีส้ม มีข้อความด้านล่าง
“ทางเลือกสุขภาพ” เป็นสีฟ้า และข้อความด้านบนระบุกลุ่มอาหาร หรือแสดงเป็นสีเดียว โดยเส้นขอบอาจเป็น
สีดำ หรือสีน้ำเงินเข้ม หรือสีขาว แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ การแสดงสีของพื้นฉลากและสีของสัญลักษณ์ต้องใช้สีตัดกันที่ทำให้เห็นสัญลักษณ์ได้ชัดเจน

ดังตัวอย่าง

กลุ่มอาหาร

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ จากมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเรียบร้อยแล้ว จำนวน 5 กลุ่มอาหาร ได้แก่

  • เครื่องดื่ม (น้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและน้ำหวานกลิ่นรสต่าง ๆ น้ำนมถั่วเหลือง
    น้ำธัญพืช ชาปรุงรส กาแฟปรุงรส เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก้ และมอลต์สกัด)
  • เครื่องปรุงรส (น้ำปลา ซอสปรุงรส และซีอิ๊ว)
  • อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มและโจ๊กปรุงแต่ง แกงจืดและซุปชนิดเข้มข้น ชนิดก้อน ชนิดผง หรือชนิดแห้ง)
  • ผลิตภัณฑ์นม
  • ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง สาหร่ายทอดหรืออบกรอบหรือเคลือบปรุงรส
    ปลาเส้นทอด อบกรอบหรือปรุงรส ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ หรือบิสกิต เวเฟอร์สอดไส้)

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยเลือกซื้ออาหารที่มีสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” บนฉลากผลิตภัณฑ์ เพราะเครื่องหมายนี้จะ
บ่งบอกว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีปริมาณสารอาหาร เช่น น้ำตาล ไขมัน โซเดียม อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด  ยกตัวอย่าง น้ำปลากำหนดให้มีโซเดียมไม่เกิน 6,000 มิลลิกรัมต่อน้ำปลา 100 มิลลิลิตร  โดยทั่วไป 1 ช้อนชา มีโซเดียมประมาณ  500 มิลลิกรัม แต่น้ำปลาที่มีการแสดงสัญลักษณ์นี้บนฉลาก 1 ช้อนชา จะมีโซเดียมไม่เกิน 300 มิลลิกรัม  หรือผู้ที่ชื่นชอบการดื่มน้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและน้ำหวานกลิ่นรสต่าง ๆ น้ำนมถั่วเหลือง และน้ำธัญพืช หากเลือกยี่ห้อที่มีการแสดง “สัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลาก ก็จะได้รับประโยชน์ด้านการลดปริมาณน้ำตาลลงเช่นกัน  เนื่องจากตามเกณฑ์กำหนดให้เครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตรจะมีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัม หากเครื่องดื่มที่กล่าวข้างต้นมีขนาดบรรจุ 200 มิลลิลิตร และดื่มครั้งเดียวหมดจะได้รับน้ำตาลไม่เกิน 12 กรัม หรือไม่เกิน 3 ช้อนชา  

จะเห็นได้ว่า... สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” นอกจากช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ที่สำคัญ ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาพยาบาลโรคดังกล่าวในระยะยาวได้อีกด้วย

จำไว้... ก่อนซื้อทุกครั้ง “อ่านฉลาก อย่างฉลาด ลดเสี่ยงโรคภัย มีแต่ได้ไม่มีเสีย”

 

เอกสารอ้างอิง :

  • ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2559

เรื่องการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร ประกาศ ณ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

  • ข้อมูลจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการ
  • หน่วยรับรองการใช้สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ  มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ
    สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าถึงได้จาก http://healthierlogo.com

ข่าวจากกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค 8 มีนาคม 2560 ข่าวแถลง 9 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

Site Map

CONTACT

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
88/24 ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง
จังหวัดนนทบุรี 11000
02-590-7118
[email protected]